วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

คำถามท้ายหน่วยการเรียนที่ 1
1. จงบอกความหมายของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาอย่างถูกต้อง
2. จงยกตัวอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสาขาต่าง ๆมาอย่างน้อย 5 สาขา
3. จงอธิบายเปรียบเทียบความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาตามทัศนะทางวิทยาศาสตร์กายภาพและทัศนะทางพฤติกรรมศาสตร์ให้ชัดเจน
4. จงบอกความหมายของการศึกษาตามความเข้าใจของบุคคลในระดับต่าง ๆ อย่างน้อย 3 ระดับ
5. เทคโนโลยีการศึกษามีกี่ระดับ แต่ละระดับมีความหมายว่าอย่างไร จงอธิบายพอเข้าใจ
6. จงอธิบายข้อแตกต่างและความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ชัดเจน
7. จงบอกถึงขั้นตอนในการเกิดนวัตกรรมมาให้ถูกต้อง
8. จงบอกถึงบทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษากับการจัดการเรียนการสอนมาอย่างน้อย 5 ข้อ
9. จงยกตัวอย่างนวัตกรรมทางการศึกษาในปัจจุบันมาอย่างน้อย 3 ชนิด
10.จงอธิบายถึงสาเหตุของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ทางการศึกษาอย่างน้อย 3 ข้อ
11. จงอธิบายถึงแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการศึกษาไทยอย่างน้อย 5 ข้อ
12. จงยกตัวอย่างและแนวทางในการแก้ไขของการขาดลักษณะที่พึงประสงค์ของคนไทยอย่างน้อย 3 ประการ
เฉลย
ข้อ 1. ตอบ เทคโนโลยีการศึกษา หมายถึง การนำเอาความรู้ แนวคิด กระบวนการ และผลผลิตทางวิทยาศาสตร์มาใช้ร่วมกันอย่างมีระบบ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
นวัตกรรม การศึกษา หมายถึง ความคิดและวิธีการปฏิบัติใหม่ ๆ ที่ส่งเสริมให้กระบวนการทางการศึกษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ข้อ 2. ตอบ 1. เทคโนโลยีทางการทหาร (Military Technology)
2. เทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology)
3. เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agricultural Technology)
4. เทคโนโลยีทางการสื่อสาร ( Communication Technology)
5. เทคโนโลยีทางการค้า ( Commercial Technology )

ข้อ 3. ตอบ ทัศนะทางวิทยาศาสตร์กายภาพ (Media or Physical Science concept) เทคโนโลยีทางการศึกษาตามทัศนะนี้มุ่งไปที่วัสดุ อุปกรณ์ หรือผลิตผลทางวิศวกรรม เป็นสำคัญแต่ไม่รวมวิธีการหรือปฏิสัมพันธ์อื่น ๆ เพราะเห็นว่า การนำเอาเครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุมาช่วยในกระบวนการเรียนการสอนทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายได้ง่ายขึ้น จึงมีการประดิษฐ์คิดค้นสื่อต่าง ๆ มากมาย ความสำเร็จในการประดิษฐ์และพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่า เทคโนโลยีทางเครื่องมือ (Tools Technology )
ทัศนะทางพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral science concept) เทคโนโลยีทางการศึกษาตามทัศนะนี้ มุ่งไปที่พฤติกรรมของมนุษย์เป็นสำคัญ โดยมองว่ามนุษย์มีการเรียนรู้อย่างไร มีความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างไร จะจัดการเรียนการสอนหรือสื่อการศึกษาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมต่าง ๆได้อย่างไร จึงจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นความหมายของเทคโนโลยีทางการศึกษาจึงเป็นการนำความรู้ทั้งหลาย เช่น ภาษาหรือสื่อความหมายมานุษย วิทยา จิตวิทยา การบริหารมาใช้ควบคู่กับการผลิตทางวิทยาศาสตร์หรือวัสดุอุปกรณ์เพื่อให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อ 4. ตอบ 1. บุคคลธรรมดาสามัญ ความหมายตามพจนานุกรม อธิบายว่า การศึกษาเป็นการเล่าเรียนและฝึกฝน
2. บุคคลในวิชาชีพทางการศึกษา ความหมายตามพจนานุกรมทางการศึกษาให้ความหมายว่า การศึกษาเป็นศิลปะการถ่ายทอดความรู้จากอดีต ซึ่งจัดรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่อย่างมีระบบ เพื่อให้บุคคลรุ่นหลังเข้าใจและนำไปปฏิบัติ

3. บุคคลที่เป็นนักศึกษา นักศึกษามีทัศนะเกี่ยวกับการศึกษาแตกต่างกันจำแนกออกเป็น 2 ทัศนะ คือ
3.1 ทัศนะแนวสังคมนิยม การศึกษาแนวสังคมนิยมให้ความสำคัญของส่วนรวมก่อนการศึกษา หมายถึง การปรับตัวให้เข้ากับสังคม ศาสนาเป็นการศึกษารูปแบบหนึ่ง การปฏิรูปตามศาสนา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี เกี่ยวกับการปรับตัวให้เข้ากับสังคม ศาสนากับการศึกษาจึงมักรวมแนวทางกันเสมอ นักบวชทุกศาสนามักมีบทบาทในการให้การศึกษาทุกสมัยโดยเฉพาะการศึกษาด้านคุณธรรม เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก
3.2 ทัศนะเสรีนิยม การศึกษาคือ การมุ่งพัฒนาบุคคลแต่ละคนให้มีความเจริญงอกงามเต็มทีตามความสามารถที่เขามีอยู่แล้ว บุคคลที่ได้รับการศึกษานี้จะใช้ความสามารถของตนสร้างเสริมสังคมเอาเองในอนาคต สังคมประเภทนี้มักเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดและความสามารถของบุคคลส่วนใหญ่แต่ละยุคแต่ละสมัย

ข้อ 5. ตอบ เทคโนโลยีการศึกษามี 3 ระดับ ได้แก่
1. ระดับอุปกรณ์การสอน เป็นการใช้เทคโนโลยีในระดับเครื่องช่วยของครู เป็นการเร้าความสนใจของนักเรียน ขยายความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง เป็นการเพิ่มสัมผัสจากการใช้หูฟังครูพูดอย่างเดียว ให้มีสัมผัสหลายทาง โดยการใช้ภาพใช้เสียงจากเสียงจริงหรือใช้วัสดุจำลอง เป็นต้น
2. ระดับวิธีสอน เป็นการใช้เทคโนโลยีแทนการสอนของครูด้วยตนเอง โดยผู้สอนไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกับผู้เรียนเสมอไป เช่น การสอนทางไกลโดยใช้วิทยุ โทรทัศน์
3. ระดับการจัดระบบทางการศึกษา เป็นการใช้เทคโนโลยีการศึกษาระดับกว้าง สามารถจัดระบบการศึกษาตอบสนองผู้เรียนได้เป็นจำนวนมาก เช่น ระบบการสอนทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีผู้เรียนทั่วประเทศแต่ผู้เรียนอาจจะไม่เคยเห็นผู้สอนตัวจริงเลยมีแต่ผู้บรรยายทางโทรทัศน์

ข้อ 6. ตอบ เทคโนโลยีเป็นการนำเอาขบวนการ วิธีการ และแนวความคิดใหม่ ๆมาใช้หรือประยุกต์ใช้อย่างมีระบบเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนนวัตกรรมเป็นการนำเอาความคิดและการกระทำใหม่ ๆที่นำมาใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
นวัตกรรมเป็นคำที่ใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีเสมอ เนื่องจากบทบาทและความหมายคล้ายคลึงกัน มีเป้าหมายในการนำไปใช้อย่างเดียวกัน
เป้าหมายที่แน่นอนของนวัตกรรมและเทคโนโลยี คือ ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยความคิดหรือการกระทำใหม่ ๆ จะถูกนำมาใช้ก่อนจนกว่าจะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานในปัจจุบัน ความคิดหรือการกระทำใหม่ ๆที่เรียกว่า นวัตกรรม นั้นก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีขึ้นมาทันที

ข้อ 7. ตอบ ขั้นตอนการเกิดนวัตกรรม
1. ขั้นการประดิษฐ์คิดค้น ( Invention)
2. ขั้นการพัฒนา (Development)
3. ขั้นการนำไปใช้หรือปฏิบัติจริง (Innovation)


ข้อ 8. ตอบ 1. ช่วยให้ผู้เรียนเรียนได้กว้างขวางมากขึ้น ได้เห็นหรือได้สัมผัสกับสิ่งที่เรียนและเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ และยังช่วยให้ผู้สอนมีเวลาแก่ผู้เรียนมากขึ้น
2. สามารถสนองเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล ผู้เรียนมีอิสระในการในการแสวงหาความรู้ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมมากขึ้น ผู้เรียนได้เรียนตามความสามารถ ตามความสนใจและความต้องการของแต่ละบุคคล
3. ให้การจัดการศึกษาดีขึ้น มีการค้นคว้าวิจัย ทดลอง ค้นพบวิธีการใหม่ ๆ ตามสภาพความเปลี่ยนแปลง
4. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสื่อการสอน ให้มีคุณค่าและสะดวกต่อการใช้มากขึ้น
5. ทำให้การเรียนรู้ไม่เน้นเฉพาะด้านความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เน้นด้านทัศนะหรือเจตคติและทักษะแก่ผู้เรียนด้วย เช่น การเรียนผ่านโทรทัศน์ ภาพยนตร์ สไลด์ ชุดการสอน กระบวนการกลุ่ม เป็นต้น

ข้อ 9. ตอบ 1. การสอนแบบโปรแกรม ( Program Instruction)
2. ศูนย์การเรียน (Learning Center)
3. การสอนแบบจุลภาพ (Micro Teaching )
4. เครื่องช่วยสอน (Teaching Machine )
5. ชุดการสอน ( Instructional Package )

ข้อ 10. ตอบ 1. การเพิ่มจำนวนประชากร
การเพิ่มจำนวนประชากรเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การขาดแคลนอาหาร ที่อยู่อาศัย สถานที่เรียน ครู สื่อการสอน เป็นต้น ทำให้การจัดการศึกษาเป็นไปไม่ทั่วถึง หากรัฐบาลจะสร้างอาคารเรียนให้เพียงพอพร้อมทั้งผลิตและครูไปทำการสอนในโรงเรียนอย่างทั่วถึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากและต้องใช้งบประมาณมหาศาล นักศึกษาได้เสนอแนวทางที่เป็นไปได้ในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นส่วนเสริมคุณภาพของการศึกษา เช่น โทรทัศน์ บทเรียนสำเร็จรูป
2. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องจากการเพิ่มประชากรโดยตรง ทำใสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การต่อสู้ดิ้นรน การแข่งขันสูงขึ้น การศึกษาจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการศึกษาสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขและก้าวหน้าต่อไป
3. ความก้าวหน้าทางวิยาการใหม่ ๆ
การศึกษาค้นคว้าเพื่อหาวิธีที่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้พบวิทยาการใหม่ ๆ หลากหลายด้านการศึกษาจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงหลักสูตร เนื้อหา และวิธีการสอน เพื่อให้ทันกับเครื่องมือและวิธีการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การสอนที่เคยเน้นการท่องจำ ต้องปรับปรุงให้รู้จักคิด เน้นกระบวนการ ดังนั้นจึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในรูปการสอน แบบสืบสวนสอบสวน เป็นต้น

ข้อ 11. ตอบ
1. การไม่นับถือตน
คนไทยส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นและไม่นับถือตนเอง ในภาพการเรียนการสอนที่ครูเป็นศูนย์กลาง ครูไม่สามารถเอาใจใส่ได้อย่างทั่วถึง ผู้เรียนบางคนไม่มีโอกาสตอบคำถามครูเลย ผู้เรียนส่วนใหญ่ต้องออกจากโรงเรียนเมื่อจบชั้นเรียนภาคบังคับและไม่มีโอกาสเรียนต่อ ทำให้ผู้เรียนเกิดปมด้อย ขาดความเชื่อมั่น การจัดการศึกษาควรจัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และทำงานที่เป็นผลผลิตของตนเอง และได้รับคำชมจากเพื่อน ๆ ครูและผู้อื่น ๆ
2. การไม่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม
ในอดีตหลักสูตรบรรจุเนื้อหาวิชาและประสบการณ์ที่ไม่เอื้อต่อผู้เรียนในส่วนภูมิภาคต่าง ๆในประเทศ การจัดการศึกษาควรสนองความต้องการของคนแต่ละภาคเพื่อให้เขาได้ชื่นชมกับสิ่งแวดล้อมอันได้แก่ วัฒนธรรมต่าง ๆ รู้จักปรับปรุงความเป็นอยู่ การกิน การเพาะปลูก อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และรักถิ่นของตนเอง
3. การขาดลักษณะที่พึงประสงค์
มนุษย์เกิดมาภายใต้อิทธิพลของพันธุกรรมสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีต่าง ๆ เช่น ความโลภ ความหลง ความเห็นแก่ตัว และสันดานดิบของมนุษย์ การศึกษาที่จัดอย่างเป็นระบบที่ดี จะทำให้คนมีคุณภาพและควบคุมพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสม ลดปริมาณสันดานดิบต่าง ๆ ลงตามลำดับ การศึกษาในระบบเดิมนอกจากไม่สามารถลดปริมาณสันดานดิบของผู้เรียนลงได้แล้วยังมีผลต่อเนื่องให้ผู้สำเร็จการศึกษาขาดลักษณะที่พึงประสงค์ 5 ประการอีกด้วย คือ
1. กล้าและรู้จักแสดงความคิดเห็น
2. สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง
3. รู้จักทำงานร่วมกันเป็นหมู่อย่างมีประสิทธิภาพ
4. รู้จักแสวงหาความรู้เอง
5. มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม

ข้อ 12. ตอบ
1. สามรถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง การแก้ไข คือ จัดให้มีการแนะแนว มีการส่งเสริมให้รู้จัดคิดแก้ปัญหาด้วยตนเองโดยมีครูเป็นผู้ที่คอยแนะนำ
2. กล้าและรู้จักแสดความคิดเห็น การแก้ไข คือ เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นร่วมกับเพื่อน ๆ ให้ทำงานเป็นกลุ่ม ให้มีส่วนร่วมในการจัดระบบการเรียนการสอนและเรียนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
3. รู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การแก้ไข คือ การให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้นอกสถานที่ เปิดโอกาสให้เรียนตามความสนใจของแต่ละคน ให้ทำกิจกรรมต่าง ๆตามความถนัดและให้เรียนรู้ไนโลกที่กว้างมากขึ้น